“เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง

 


เจ๋ง! ม.มหิดล เปิดตัว “เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง ป้องกันหลับใน ลดอุบัติเหตุ


     ม.มหิดล เปิดตัว “Alertz” อุปกรณ์ตรวจจับความง่วงด้วยคลื่นสมอง ช่วยส่งสัญญาณเตือนเมื่อเริ่มง่วง ป้องกันการหลับใน ลดอุบัติเหตุ ต่อยอดผลิตภาคอุตสาหกรรมใช้ในการกลุ่มธุรกิจขนส่ง ระบุ เชื่อมต่อจีพีเอสช่วยเก็บข้อมูลการขับรถได้ เผย แม่นยำกว่าเครื่องตรวจหลับในทั่วไป
       
       ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดตัว “Alertz” อุปกรณ์ตรวจวัดระดับความง่วงด้วยคลื่นสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ พร้อมลงนามแลกเปลี่ยนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับบริษัท ไฟน์เนส เด ดีไซน์ จำกัด โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่ และ สงกรานต์ สาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ แต่อุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปีส่วนใหญ่พบว่ามาจากการง่วงแล้วขับ หรือเกิดการหลับในมากกว่า โดยอุบัติเหตุจากการหลับในของไทยมีความเสียหายคิดเป็น 4 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของนวัตกรรม อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง หรือ Alertz” ซึ่งอาศัยการตรวจจับคลื่นสมองก่อนเกิดอาการหลับใน เพื่อแจ้งเตือนคนขับล่วงหน้า
       
       ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า เครื่องแจ้งเตือนการหลับในดังกล่าว เป็นผลงานวิจัยของกลุ่มนักศึกษาจากศูนย์ปฏิบัติการเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Center) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ 2 ปี จากเทคโนโลยี Brain-Computer Interface โดยเครื่องจะอาศัยการตรวจจับคลื่นสัญญาณสมอง ซึ่งโดยทั่วไปคลื่นสมองของมนุษย์จะถูกแบ่งออกเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน แต่ละช่วงความถี่จะบ่งชี้ถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ช่วงคลื่นความถี่สูงจะบ่งบอกว่าร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัว หรือกำลังเครียด ช่วงคลื่นความถี่ต่ำจะบอกถึงสภาวะร่างกายในขณะที่นิ่งสงบ หรือนอนหลับ เป็นต้น ซึ่งหากคลื่นสมองเรามีความถี่ต่ำลงจากปกติ บ่งบอกถึงอาการเริ่มง่วง ก็จะทำการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยการสั่น ทำให้ป้องกันการเกิดการหลับในและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากเทคโนโลยีตรวจวัดการหลับในอื่น ๆ ที่ตรวจแบบโดยอ้อม เช่น ดูการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือพฤติกรรมการขับขี่ เป็นต้น ซึ่งมีใช้กันในปัจจุบันและใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว 


เจ๋ง! ม.มหิดล เปิดตัว “เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง ป้องกันหลับใน ลดอุบัติเหตุ
      
       ผศ.ดร.ยศชนัน กล่าวว่า คลื่นสมองของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ดังนั้น การที่เครื่องจะวัดว่าคลื่นสมองมีความถี่ที่ต่ำลงกว่าปกตินั้น จึงต้องมีการตั้งค่าให้เครื่องก่อน โดยต้องตั้งค่าก่อนใช้งานตอนที่ร่างกายมีความตื่นตัวเป็นปกติ ไม่ง่วง จากนั้นเปิดเครื่องและสวมเครื่องลงที่ศีรษะ รอนิ่ง ๆ เป็นเวลา 1 นาที เมื่อเครื่องสั่นแสดงว่าตั้งค่าสำเร็จแล้ว จากนั้นจึงนำไปใช้งานได้ หากคลื่นสัญญาณสมองความถี่ต่ำลงกว่าปกติลงมา 15 – 20% ก็จะส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะหลับใน และจะหยุดต่อเมื่อผู้ใช้งานรู้สึกตื่นตัวหรือหายง่วง นอกจากนี้ เครื่องยังสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เปรียบเสมือนกล่องดำของเครื่องบิน และสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือผ่านสายยูเอสบีและบลูธูทได้ โดยจะมีแอปพลิเคชั่นรองรับการใช้งานบนมือถือ ซึ่งจะสามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์
       
เจ๋ง! ม.มหิดล เปิดตัว “เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง ป้องกันหลับใน ลดอุบัติเหตุ


       “เครื่องดังกล่าวจะเน้นการใช้งานในกลุ่มการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ก่อน ซึ่งขณะนี้ได้การพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยนักวิจัยในทีมได้ร่วมกับบริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัท ไฟเนส เมด ดีไซน์ จำกัด เพื่อผลิตนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และได้ติดต่อกับทางบริษัทขนส่ง รถบรรทุก ขนส่งน้ำมัน รถโดยสารสาธารณะของเอกชน ซึ่งมีหลายรายได้สนใจซื้อไปทดลองใช้ ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการใช้งาน 1 ปี เพื่อดูว่าสามารถลดอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่ เพราะเครื่องสามารถเชื่อมต่อจีพีเอสได้ ทำให้บริษัทสามารถเก็บข้อมูลการขับขี่ และทราบได้ว่า รถคันนี้บนเส้นทางนี้เกิดอาการง่วงหรือไม่ รวมถึงเป็นข้อมูลให้แก่กรมทางหลวงได้ว่าถนนเส้นไหนที่มีการง่วงนอนมาก เพื่อดำเนินการป้องกัน เช่น อาจติดตั้งป้ายแจ้งเตือนการหลับใน เป็นต้น และหากใช้งานได้ผลดี มีความต้องการมากขึ้นก็จะผลิตออกมาจำนวนมาก ราคาก็จะลดลง ซึ่งขณะนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท และก็จะมีโอกาสขยายออกไปสู่การใช้งานของประชาชนทั่วไปต่อไป ถือว่าเป็นเครื่องที่จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และตอบสนองนโยบายความปลอดภัยของรัฐบาลได้ผศ.ดร.ยศชนัน กล่าว 


เจ๋ง! ม.มหิดล เปิดตัว “เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง ป้องกันหลับใน ลดอุบัติเหตุ


เจ๋ง! ม.มหิดล เปิดตัว “เครื่องตรวจจับความง่วง” ด้วยคลื่นสมอง ป้องกันหลับใน ลดอุบัติเหตุ


ลักษณะความภี่คลื่นสมอง คลื่นความถี่สูงคือตื่นตัว (ซ้าย) คลื่นความถี่ต่ำ คือ ง่วงหลับ (ขวา)


ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000052840